วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา







วันออกพรรษา




             
                            ความสำคัญ วันออกพรรษา ได้แก่ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในวันนี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม ซึ่งเรียกว่า วันมหาปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ภิกษุด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ทั้งนี้เพราะในระหว่างพรรษานั้น พระสงฆ์บางองค์อาจมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นวิธีที่จะรู้ถึงข้อบกพร่องของตน ทั้งนี้กระทำโดยเปิดเผย ไม่ถือเป็นเรื่องที่จะมาโกรธเคืองกันภายหลัง หรือเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกัน
                          การกระทำมหาปวารณา เป็นการสังฆกรรมอย่างหนึ่งแทนการสวดพระปาฏิโมกข์ (พระวินัย) ที่ได้กระทำกันทุกๆ ๑๕ วันในช่วงเข้าพรรษา




                                                                                              การปฏิบัติตน
                                       แม้การปวารณาจะเป็นเรื่องระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน แต่การออกพรรษาก็เป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่งที่ชาวบ้านจะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน โดยในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ มีประเพณีทำบุญตักบาตร ที่เรียกกันว่า ทำบุญตักบาตรเทโว หรือเรียกเต็มๆ ว่า ตักบาตรเมโวโรหนะ สืบเนื่องจากความเชื่อตามตำนานที่ว่าวันนี้เป็นวันคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกหลังจากที่ได้เสด็จกลับจากการไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์บางวัดอาจจัดพิธีทำบุญตักบาตรธรรมดา แต่บางวัดก็จัดเป็นงานใหญ่โต เสร็จจากการทำบุญตักบาตร พุทธศาสนิกชนจะไปฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล


 
                                     กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
๑. ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
๓. ร่วมกุศลกรรม "ตักบาตรเทโว"
๔. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
 และประดับธงชาติและธงธรรมจักตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา





ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
                                        ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ
                        ๑. ประเพณีตักบาตรเทโว (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังจากออกพรรษาแล้ว ๑ วัน)
                        ๒. พิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ กำหนด ๑ เดือน
นับตั้งแต่วันออกพรรษา)
                        ๓. พิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
                       ๔. ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น ๘ ค่ำ หรือ วันแรม ๘ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ หรือในเดือน ๑๐)

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันปิยะมหาราช



วันปิยะมหาราช



พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ การประกาศเลิกทาส ทำให้ปวงชนชาวไทยได้เป็นไทมาจวบจนทุกวันนี้

          ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน
ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช

ความเป็นมาของวันปิยะมหาราช



เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า

         
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ


          เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

เทศกาลกินเจ



เทศกาลกินเจ


จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

           1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ

           2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้ 

           3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น